หลายคนเข้าใจผิดว่า การ “ยื่นภาษี” เงินได้บุคคลธรรมดา เป็นหน้าที่ของมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องทำการ “เสียภาษี” เท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว คนที่ทำ “อาชีพอิสระ” อื่นๆ รวมถึงอาชีพ “ขายของออนไลน์” พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้ทำงานประจำ ก็มีหน้าที่ยื่นภาษีเช่นกัน
นอกจากความเข้าใจผิดเรื่องการ “ยื่นภาษี” แล้ว อีกหนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับคนขายของคือ “ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง” วันนี้เรานำเงื่อนไขในการเสียภาษีของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ พร้อมขั้นตอนการยื่นภาษีอย่างถูกต้องมาฝากกันครับ รับรองว่าเริ่มต้นได้ง่ายกว่าที่คุณคิด
“ขายของออนไลน์” แบบไหน ต้องเสียภาษีบ้าง?
คนที่มีหน้าที่เสียภาษี คือคนที่ “มีรายได้” ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด แน่นอนว่าถ้าคุณเป็นคนขายของออนไลน์มีรายได้เข้ามา ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี โดยจะเสียภาษีแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราขายของออนไลน์ในฐานะอะไร ซึ่งแบ่งได้ 2 แบบ คือ
- เป็นบุคคลธรรมดา
- เป็นนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน)
ไม่ว่าคุณจะขายของออนไลน์ในฐานะของบุคคลธรรมดา หรือจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ต่างก็ต้องมีหน้าที่ยื่นภาษี และต้องเสียภาษีด้วย เมื่อมีรายได้ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด
ในบทความนี้จะพูดถึงการขายของออนไลน์แบบที่เป็น “บุคคลธรรมดา” ซึ่งหมายถึงคนธรรมดาทั่วไปที่ขายของออนไลน์ ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
มี “รายได้” จากการ “ขายของออนไลน์” เท่าไร ถึงต้องยื่นภาษี?
หากคุณเป็นคนขายของออนไลน์ในฐานะบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้จากการขายของออนไลน์ จะต้องยื่นภาษีเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ ม.40 (8) เมื่อมีรายได้เกิน 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาท (กรณีสมรส) ต่อปี
ขายของออนไลน์ “คำนวณภาษี” อย่างไร?
ผู้ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้อง “เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” โดยผู้ค้าออนไลน์สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีได้ 2 แบบคือ แบบหักตามจริง และแบบเหมา 60%
1. หักค่าใช้จ่ายตามจริง เหมาะกับใคร ?
ผู้ค้าออนไลน์ที่มีต้นทุนสูงในการขายสินค้า เหมาะกับการยื่นภาษีแบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง เพราะวิธีนี้จะทำให้คนที่มีต้นทุนสูงสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงด้วย
ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว เงินได้สุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษีก็จะลดลงตามไป โดยวิธีนี้ต้องจัดเก็บรวบรวม “บัญชีรายรับรายจ่าย” พร้อม “หลักฐาน” ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ และช่วยลดความสับสนเมื่อต้องยื่นภาษี
2. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% เหมาะกับใคร ?
ผู้ค้าออนไลน์ที่มีกำไรเยอะ เช่น กำไรที่แท้จริงหักค่าใช้จ่ายแล้วมีมากกว่า 40% หมายความว่าต้นทุนของธุรกิจจะน้อยกว่า 60% ของรายได้ทั้งหมด กรณีนี้แนะนำให้เลือกใช้การยื่นภาษีแบบเหมา ซึ่งข้อดีของการยื่นแบบนี้ คือ “ไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใดๆ กับกรมสรรพากร” และทำให้เราได้ประโยชน์ทางภาษีในส่วนต่างของต้นทุนที่แท้จริง กับค่าใช้จ่ายแบบเหมา
สำหรับผู้ค้าออนไลน์ที่ยังไม่ถนัดการคำนวณภาษีเอง สามารถลดความยุ่งยากได้ด้วยการทดลองคำนวณภาษีออนไลน์ แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านแอพพลิเคชั่น “RD Smart Tax” ของกรมสรรพากร เพียงแค่กรอกข้อมูลตามขั้นตอน ก็จะช่วยคำนวณภาษีที่จะต้องจ่าย หรือภาษีที่จะได้รับคืนได้ แบบไม่ต้องนั่งคำนวณเอง
วิธียื่นภาษี สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์
ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ทางเดียวจากการขายของออนไลน์ หรือจะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ขายของออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ต่างก็ต้องยื่นภาษี 2 แบบ คือ ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด. 90 โดยจะต้องยื่นภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนี้
รอบแรก คือการยื่นภาษีครึ่งปี ช่วง ก.ค. – ก.ย. ของทุกปี
ทำการยื่นภาษีโดยนำเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. มาแสดงในการยื่นภาษี ตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94 ภายในวันที่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. โดยสาเหตุที่ให้มีการเสียภาษีครึ่งปีเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้มีรายได้ เพื่อไม่ให้เสียภาษีหนักในครั้งเดียวนั่นเอง
รอบที่ 2 ยื่นภาษีปลายปี ช่วง ม.ค. – มี.ค. ของทุกปี
ทำการยื่นภาษีโดยนำเงินได้ทั้งปี มากรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ภายในวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. ของปีถัดไป (เช่น เงินได้ปี 2563 ต้องยื่นใน มี.ค. 2564)
ทั้งนี้ ผู้ขายของออนไลน์บางรายอาจต้องจ่าย “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ด้วย ในกรณีที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท โดยต้องจดทะเบียน VAT และยื่นภาษีทุกๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออก “ใบกำกับภาษี” ให้กับผู้มาใช้บริการด้วย
ยื่นภาษีได้ผ่านช่องทางไหนได้บ้าง
สำหรับช่องทางการ “ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” มี 2 ทางเลือก
ช่องทางแรก คือ เตรียมเอกสารแบบกระดาษ เดินทางไปยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร ในเวลาราชการ
ช่องทางที่สอง คือ การยื่นภาษีในช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) สำหรับการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด. 90/91/94 สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งการยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์นอกจากจะสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางแล้ว ยังจะได้รับสิทธิพิเศษให้ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีช้าออกไปกว่าการยื่นแบบกระดาษ (ขึ้นอยู่กับกรมสรรพากรประกาศในแต่ละปี) และมีโปรแกรมช่วยตรวจสอบข้อมูลขั้นต้น หากพบข้อมูลที่ผิดพลาดขณะยื่นภาษีในบางกรณี ระบบจะแจ้งรายการเตือนให้ทราบทันที ทำให้มือใหม่ที่เพิ่งเคยยื่นภาษีครั้งแรกก็ทำได้
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังอนุญาตให้ “ผ่อนชำระภาษี” ได้ 3 งวด โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมใดๆ สำหรับผู้ที่ต้อง “เสียภาษี” ตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป
ขั้นตอนเตรียมตัว ยื่นภาษีสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์
ขั้นตอนที่ 1 จดบันทึกรายการซื้อ – ขายสินค้า เพื่อนำมาใช้ในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน ทำให้ไม่ลืม ไม่สับสน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินได้ง่ายกว่าการทำย้อนหลังมากๆ
ขั้นตอนที่ 2 เก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า ธุรกรรมทางการเงิน นอกจากจะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเมื่อสรรพากรเข้ามาขอตรวจสอบอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าความถี่และจำนวนเงินโอนเข้าบัญชีเข้าเกณฑ์ภาษีอีเพย์เมนต์ ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่ถือบัญชีที่มีจำนวนครั้งและจำนวนเงินรับโอนช่วง 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ของทุกปี ดังต่อไปนี้
- มีการฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่ายอดฝากต่อครั้ง หรือยอดรวมทั้งหมดจะเป็นกี่บาทก็ตาม
- มีการฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งต่อปีขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันทั้งหมดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาและติดตามข่าวสารทางด้านการเงินและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีอย่างต่อเนื่อง เพราะเงื่อนไขในแต่ละปี อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ การอัปเดตอยู่เสมอจะช่วยให้จัดการภาษีได้ถูกต้องตามเงื่อนไข จัดการการเงินของตัวเองได้อย่างเหมาะสม และไม่มีปัญหาย้อนหลังนั่นเอง
แม้การเสียภาษีจะมีหลายขั้นตอน แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่จะทำให้ถูกต้อง ที่สำคัญการเสียภาษียังมีข้อดี คือ ช่วยให้ไม่ต้องคอยกังวลใจว่าจะถูกตรวจสอบจากสรรพากร สามารถขายของออนไลน์ได้อย่างเปิดเผย ที่สำคัญคือได้ทำหน้าที่ผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องไปในเวลาเดียวกัน
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นภาษีและเสียภาษีสำหรับคนขายของออนไลน์ สามารถสอบถามได้ที่ Call Center กรมสรรพากร หมายเลข 1161
อ้างอิง : postfamily